แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

ปรากฎการณ์ธรรมชาติของแสงหลากสีเริงระบำบนท้องฟ้ายามค่ำคืนในดินแดนขั้วโลกเหนือ ได้สร้างความอัศจรรย์แก่มวลมนุษย์มานานนับศตวรรษ จนทำให้ผู้คนมากมายต้องเดินทางมาสัมผัสเพื่อไขปริศนาการเกิดขึ้นของ “แสงเหนือ” (Aurora Borealis)

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

แสงเหนือ เป็นปราฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตประเทศขั้วโลกอย่างไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก กรีนแลนด์ รวมถึงอลาสก้า ชาวโรมันโบราณเชื่อว่าแสงเหนือเกิดจากการปรากฏตัวของ เทพีแห่งรุ่งอรุณ (Goddess of Dawn) โบยบินผ่านท้องฟ้ายามเช้าเพื่อมาส่งสัญญาณว่าดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นแล้ว กาลิเลโอ กาลิเลอิ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เป็นผู้ให้สมญานามแสงเหนือว่า Aurora Borealis ซึ่งในภาษาละตินแปลว่า “รุ่งอรุณสีแดงแห่งทิศเหนือ” Aurora มาจากชื่อเทพีแห่งรุ่งอรุณของชาวโรมัน ส่วน Borealis คือชื่อ เทพเจ้าแห่งลมเหนือของกรีกนามว่าบอรีอัส (Boreas) การปรากฏขึ้นของแสงเหนือ นำมาซึ่งหลากหลายความเชื่อของผู้คนในต่างวัฒนธรรม ในตำนานนอร์สโบราณของชาวสแกนดิเนเวียเชื่อว่า การเริงระบำของแสงสี (The Bright of Dancing Lights) คือประกายจากเสื้อเกราะของ วาลคิรี (Valkyrie) เทพธิดาในเทพปกรณัมนอร์ส ผู้คัดเลือกนักรบที่เสียชีวิตเดินทางสู่สรวงสวรรค์ ชาวเดนมาร์กเชื่อว่าแสงเหนือเกิดจากฝูงหงส์ที่บินขึ้นเหนือและหนาวจนปีกกลายเป็นน้ำแข็ง และเมื่อพวกมันสะบัดปีกจึงทำให้เกิดแสงสะท้อนเป็นแสงออโรร่า ในขณะที่ชาวเอสกิโมและชนพื้นถิ่นทางตอนเหนือของแคนนาดา เชื่อว่าแสงเหนือเป็นการเริงระบำของจิตวิญญาณ (Dance of The Spirits) ของผู้วายชนม์ที่พยายามติดต่อกับญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่บนพื้นโลก ยิ่งแสงปรากฏสว่างมาก แสดงว่าวิญญาณของเขาเหล่านั้นก็มีความสุขมากเช่นกัน และบางชนเผ่ายังเชื่อว่า แสงออโรร่าคือวิญญาณของบรรพบุรุษที่กลับมาปกปักรักษาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ​มนุษย์สร้างตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับแสงออโรร่ามาอย่างยาวนาน

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

จนเมื่อวิทยาศาสตร์ได้ไขความลับของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราพบว่าการเริงระบำของแสงหลากสี เกิดจากการที่อนุภาคอิเล็กตรอน โปรตอน และไอออนพลังงานสูงที่ถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ขณะกำลังโคจร เคลื่อนมากับลมสุริยะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เมื่ออนุภาคเหล่านั้นเคลื่อนมาในระดับความสูงประมาณ 80 – 1,000 กิโลเมตรจากพื้นดิน และชนเข้ากับโมเลกุลของก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ จึงได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่เรามองเห็นเป็นสีต่างๆ

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

การปรากฎเป็นแสงหลากสีในรูปร่างที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสูงที่เกิดการชนกันระหว่างอนุภาคจากดวงอาทิตย์กับโมเลกุลของก๊าซและชนิดของก๊าซในชั้นบรรยากาศโลก ก๊าซออกซิเจนจะให้แสงสีเขียวหรือสีแดง ไนโตรเจนให้แสงสีน้ำเงินหรือสีม่วง ส่วนฮีเลียมให้แสงสีฟ้าหรือสีชมพู และรูปร่างที่พบเห็นบ่อยจะเป็นแสงเรืองรองกระจายอยู่บนท้องฟ้า บางครั้งมีลักษณะเป็นลำแสงชัดเจน แต่บางครั้งมีลักษณะเป็นเหมือนม่านหมอกของละอองแสง โดยความเข้มของแสงจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมของดวงอาทิตย์และการปรับเร่งความเร็วของอนุภาค แม้ปริศนาของแสงออโรร่าได้ถูกค้นพบ แต่เรื่องเล่าของแสงออโรร่าและความมหัศจรรย์ของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ยังดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางฝ่าความเหน็บหนาวเพื่อมาสัมผัสความสวยงามที่ซุกซ่อนอยู่ในดินแดนขั้วโลกนี้ นักเดินทางสามารถพบปรากฎการณ์ของแสงเหนือได้ในหลายพื้นที่ของดินแดนที่มีละติจูดตั้งแต่ 60° เหนือขึ้นไป

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

ผู้คนในเมือง Andenes ประเทศนอร์เวย์ จะสามารถเห็นแสงออโรร่าได้เกือบทุกค่ำคืนยามท้องฟ้าปลอดโปร่ง ขณะที่เมือง Fairbanks ในมลรัฐอลาสกา จะปรากฎแสงออโรร่าให้เห็น 5-10 ครั้งต่อเดือน แม้แสงขั้วโลกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี แต่ใช่ว่านักเดินทางจะสามารถพบเห็นการเริงระบำของแสงสีได้ในทุกครั้ง การได้สัมผัสความสวยงามของแสงออโรร่าจะต้องไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดย ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการชมแสงเหนือจะเป็นช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนเมษายน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีระยะเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน แต่การเดินทางในช่วงที่ระยะเวลากลางคืนยาวนานมากเกินไปในเดือนธันวาคมหรือมกราคม แม้จะมีโอกาสสัมผัสมหัศจรรย์แสงเหนือ ก็อาจพลาดการเที่ยวชมสถานที่อื่นๆ ได้เช่นกัน แสงเหนือจะปรากฏตั้งแต่เวลา 22.00 น ถึง เที่ยงคืน การได้เห็นแสงออโรร่าอย่างแจ่มชัดสวยงามต้องเป็นค่ำคืนมืดสนิทและท้องฟ้าปลอดโปร่งไร้เมฆบดบัง หากใกล้ช่วงพระจันทร์เต็มดวง การปรากฏของแสงจะอ่อนลง บริเวณที่ชมแสงออโรร่าควรเป็นบริเวณที่ไร้มลพิษทางแสง มีความสว่างจากไฟฟ้าน้อยที่สุด และที่สำคัญต้องเป็นช่วงที่เกิดกิจกรรมบนดวงอาทิตย์มากเพียงพอ นักล่าแสงเหนือสามารถตรวจสอบการพยากรณ์เมฆและแสงได้ล่วงหน้า แต่การพยากรณ์ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้เกินกว่าหนึ่งหรือสองวัน และไม่การันตีว่าจะได้พบความสวยงามอันน่าอัศจรรย์ของเทพีแห่งรุ่งอรุณ

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

แต่การได้เดินทางไปค้นหาตำนานแห่งออโรร่า ก็ถือเป็นความท้าทายและประสบการณ์หนึ่งในชีวิตที่พลาดไม่ได้กับการได้ลุ้นว่า... เราจะผ่านค่ำคืนอันหนาวเหน็บ เพื่อรอคอยเทพีแห่งรุ่งอรุณปรากฏโฉมบนท้องฟ้า

สุดยอด 10 ประเทศดูแสงเหนือ

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

► นอร์เวย์ (Norway) เมืองทรอมโซ (Tromso) เมือง Andenes และ เกาะโลโฟเทน (Lofoten) หมู่เกาะแห่งแสงเหนืองดงามราวกับภาพฝันกับบ้านชาวประมงสีแดง 
ช่วงเวลา: เดือนกันยายน – มีนาคม

► สวีเดน (Sweden) อุทยานแห่งชาติอบิสโก (Abisko National Park) ที่ตั้งของออโรร่าสกายสเตชั่น (Aurora Sky Station) เมืองคิรูน่า (Kiruna) ตอนเหนือของสวีเดน
ช่วงเวลา: เดือนกันยายน - มีนาคม

► ไอซ์แลนด์ (Iceland) ฟยอร์ดทางตะวันตก (Westfjord) หรือทางตอนเหนือของไอซ์แลนด์ (North Iceland) และกรุงเรคจาวิค (Reykjavik) เมืองหลวง
ช่วงเวลา: เดือนตุลาคม - มีนาคม

► ฟินแลนด์ (Finland) แลปแลนด์ (Lapland) เมืองทางตอนเหนือ
ช่วงเวลา: ปลายเดือนสิงหาคมถึงเมษายน

► กรีนแลนด์ (Greenland) Lake Aurora เมือง Ilulissat Town
ช่วงเวลา: เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์

► สก็อตแลนด์ (Scotland) เมืองแอเบอร์ดีน (Aberdeen) / เกาะ Isle of Skye / Northern Highlands / ประภาคาร Dunnet Head
ช่วงเวลา: เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์

► เดนมาร์ก (Denmark) หมู่เกาะแฟโร (Faroe) ตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก
ช่วงเวลา: กลางเดือนสิงหาคม – ปลายเมษายน

► อลาสก้า, อเมริกา (Alaska America) เมืองแฟร์แบงค์ (Fairbanks)
ช่วงเวลา: เดือนกันยายน - เมษายน

► แคนาดา (Canada) เมืองออนทาริโอ (Ontario) และ เมืองทุนดรา (Tundra)
ช่วงเวลา: เดือนมกราคม – กลางมีนาคม

► รัสเซีย (Russia) เมืองมูรมานสก์ (Murmansk) ตอนเหนือของรัสเซีย ใกล้ประเทศฟินแลนด์
ช่วงเวลา: เดือนกุมภาพันธ์

เตรียมความพร้อมล่าแสงเหนือ

การรอคอยเทพีแห่งอรุณรุ่งปรากฏโฉมบนท้องฟ้าในค่ำคืนที่หนาวเหน็บ ต้องมีการเตรียมความพร้อมร่างกายให้อบอุ่น เสื้อผ้าที่เหมาะสมและหนาเพียงพอ ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้าที่ห่อหุ้มเท้าได้ดี เสื้อผ้าชั้นในสำหรับเก็บความร้อน เสื้อขนสัตว์ ขนเป็ด และเสื้อชั้นนอกที่กันน้ำและลม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การตามล่าหาแสงเหนือสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจภายใต้สถานการณ์ความหนาวที่ไม่สามารถคาดเดาได้ การเตรียมผ้าห่ม และกระติกเก็บความร้อนไว้จิบชา กาแฟ หรือโกโก้ร้อนๆ ก็สร้างความอบอุ่นให้ร่างกายได้เป็นอย่างดีระหว่างรอคอยการมาของแสงออโรร่าแห่งขั้วโลกเหนือ

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

Tips การถ่ายรูปแสงเหนือ

► ควรใช้กล้อง DSLR และเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง เพื่อรับแสงได้มากขึ้นแม้ในที่แสงน้อย
► ทำระยะเวลาในการเปิดหน้ากล้อง (Exposure) หรือชัตเตอร์ให้นานขึ้น จะช่วยให้แสงเข้าได้มากและได้ภาพที่สวยงามสามารถเก็บรายละเอียดของแสงได้ดี
► ตั้งค่า ISO สูงในระดับที่เหมาะสม การมีค่าความไวแสงของกล้องที่สูงขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อย จะช่วยลดระยะเวลา Exposure ได้ ทำให้สามารถถ่ายรูปได้จำนวนมากขึ้น ผู้ถ่ายภาพจำเป็นต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ของการตั้งค่า ISO และระยะเวลาการเปิดชัตเตอร์และฝึกฝนก่อนไปถ่ายจริง
► ใช้ขาตั้งกล้องขณะถ่ายภาพ เพราะขณะที่เปิดชัตเตอร์อยู่ ทุกการเคลื่อนไหวจะส่งผลต่อรูปภาพ การใช้ขาตั้งกล้องจะลดความสั่นไหวและทำให้ภาพถ่ายมีความคมชัดและเก็บรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น
► ใช้รีโมตชัตเตอร์หรือถ่ายแบบตั้งเวลา เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนจากการกดชัตเตอร์
► ชาร์ตแบตเตอรี่ให้พร้อม ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น แบตเตอรี่จะคลายตัวเร็วกว่าปกติ ดังนั้นควรชาร์ตแบตมาให้เต็มและควรมีแบตสำรองมาด้วย
► อย่าลืม!! ปิดแฟลชในขณะถ่ายภาพ

แสงเหนือ... มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า

แสงเหนือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ การปรากฏขึ้นจึงไม่สามารถคาดเดาได้เช่นกัน บางครั้งการเริงระบำอาจมาเพียงแค่เงาจางๆ แล้วหายไป หรือบางทีอาจจะเดินทางมาล่าช้าบ้าง แต่อย่าลืมว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และผู้ที่สามารถอดทนรอเท่านั้นที่จะได้มีโอกาสสัมผัสถึงความงามอันน่าอัศจรรย์นี้

Thai Travel Center


ไทยทราเวลเซ็นเตอร์ พัฒนาแพลตฟอร์มของเราอยู่ตลอดเวลาเพื่อมอบประสบการณ์การใช้เว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น และส่วนสำคัญที่เราใช้พัฒนาระบบก็คือข้อมูลต่างๆ ของคุณ ในขณะเดียวกันเราให้ความสำคัญต่อความเป็นส่วนตัว และจะทำงานอย่างดีที่สุดเพื่อรักษาความลับ และควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของคุณให้ปลอดภัย ไทยทราเวลเซ็นเตอร์ พัฒนาแพลตฟอร์มของเราอยู่ตลอดเวลาเพื่อมอบประสบการณ์การใช้เว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น และส่วนสำคัญที่เราใช้พัฒนา... อ่านต่อ ดูรายละเอียด ให้ความยินยอม