การกลับมาของ “หนังกลางแปลง” กับเทศกาล “กรุงเทพ กลางแปลง”
สำหรับวัยรุ่นยุค 80 แล้ว คงยากมากที่จะไม่รู้จักกับบรรยากาศสุดหรรษายามค่ำคืนอย่าง “หนังกลางแปลง” แต่เด็กรุ่น Netflix ชีวิตไฮสปีดอินเตอร์เน็ต คงสงสัยแน่ๆว่าหนังกลางแปลงคืออะไร?
จอผ้าใบสีขาวขนาดใหญ่ ติดตั้งบนลานกว้าง จะถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในเทศกาล “กรุงเทพ กลางแปลง” ที่กรุงเทพมหานคร เตรียมดันเมืองฟ้าอมรให้เป็น Amazing Bangkok จัดฉายหนังดีทั้งไทยและเทศกว่า 25 เรื่อง ปูพรมทั่วกรุง 7-31 ก.ค. 65 นี้
หนังกลางแปลง เป็นความบันเทิงที่เติมสีสันให้กับชีวิตคนรุ่นอนาล็อค ในยุคที่โรงภาพยนตร์ยังมีไม่มากนัก และยังเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงผู้คนในชุมชนห่างไกลผ่านรถเร่ขายยา ที่มักเอาหนังฉายกลางแปลงเป็นจุดดึงดูดในการโฆษณา และแนะนำสินค้า แทรกไปในระหว่างการฉายภาพยนตร์ ถือเป็นการทำมาร์เก็ตติ้งในยุคแรกๆ ที่เข้าถึงกลุ่มผู้คนได้ดีเลยทีเดียว
หนังกลางแปลง ไม่ได้เป็นแค่มหรสพหรือสื่อโฆษณาเท่านั้น แต่เรื่องราวในหนัง ยังช่วยให้ผู้ชมเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ผ่านวิถีชีวิตและแนวคิดที่สอดแทรกในสื่อภาพยนตร์ เด็กๆ และคนในชุมชน มักตื่นเต้น ดีใจ และมีเฮทุกครั้ง ที่มีประกาศฉายหนังกลางแปลงที่ลานวัด หรือแปลงนา เพราะโอกาสเข้าถึงโรงภาพยนตร์และการซื้อตั๋วหนังดูในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนทุกวันนี้
คนฉายหนัง ถือเป็นสุดยอดผู้กุมชะตาของหนังกลางแปลง พวกเขามักมาพร้อม Multi Skills ขั้นสุด ทั้งเป็นผู้ประกาศเชิญชวนคนมาดูหนัง เป็นคนโฆษณาโชว์สรรพคุณสินค้า เป็นนักเทคนิคควบคุมเครื่องฉาย และผู้ชำนาญการกรอฟิลม์ภาพยนตร์ ทั้งยังต้องเป็นนักพากย์มือฉมัง ที่เปลี่ยนเสียงได้ทุกบทบาท ทุกอารมณ์ เรียกได้ว่าครบจบในคนเดียว แบบ All in One
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้น ม้วนฟิลม์ที่ฉายบนเครื่องฉาย ผ่านแสงไฟส่องบนฉากขาว ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัลความคมชัดสูง สีสันการพากย์สดของหลากตัวละคร แปรเปลี่ยนเป็นการอัดเสียงในสตูดิโอ การเข้ามาของสตรีมมิ่งวิดีโอ Youtube และ Netflix ที่เราเรียกดูเรื่องราวต่างๆ ได้ผ่านคอมพิวเตอร์ และหน้าจอมือถือ ทำให้หนังกลางแปลงเริ่มลดบทบาท และค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนแต่หนังกลางแปลงในลมหายใจสุดท้าย ท่ามกลางยุคเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ยังคงมนต์เสน่ห์แห่งอดีตกาลได้อย่างไม่รู้ลืม...
เมื่อได้กลับมานั่งพื้นปูเสื่อดูหนังจอใหญ่ด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศกลางแจ้งแบบคลาสสิคในยามค่ำคืน ช่างเป็นความรู้สึกที่แสนเพลิดเพลินที่วัยรุ่นยุคนี้อาจไม่เคยสัมผัส!
ภาพผู้คนถือเสื่อ เดินหาโลเคชั่นเหมาะๆ นั่งๆ นอนๆ เอนกาย รอดูหนังเรื่องโปรด ภาพคู่รักตะมุตะมิ นัดเดทยามค่ำคืนกลางจอยักษ์กลางแปลง ท่ามกลางผู้คนมากมาย เสียงเด็กวิ่งเล่นไปมา เคล้ากลิ่นหอมไอควันกรุ่นๆ ของสตรีทฟู้ดข้างทาง เสียงหัวเราะเฮฮาของเหล่าคอหนัง กับกิจกรรมดูไป กินไป เม้าส์ไป เป็นบรรยากาศที่จะกลับมาให้เราได้สัมผัส และย้อนเห็นภาพวันวานของหนังกลางแปลงได้แจ่มชัดขึ้น
คงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่หนังกลางแปลงจะฟื้นคืนกลับมา ให้พวกเราได้เห็นถึงบรรยากาศอบอุ่นท่ามกลางมิตรภาพใหม่ๆ ที่ไม่ใช่อยู่แค่ในโลกเสมือนกับตัวตนที่เราสร้างขึ้น แต่อยู่ในโลกแห่งความจริงที่สัมผัสได้ทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตา
วางสมาร์ทโฟนสุดล้ำ เดินออกจากห้องโฮมเธียร์เตอร์สุดหรู ถือเสื่อมาปูบนลานกว้าง สัมผัสบรรยากาศการดูหนังในอีกรูปแบบหนึ่ง.. กับความสุขง่ายๆ ที่มีแค่พื้นหญ้า โอบล้อมด้วยดาวบนฟ้ายามค่ำคืน
ลืมไปเลยกับถังป๊อปคอร์นยักษ์และน้ำอัดลมแก้วโต เพราะงานนี้!! ถั่วต้ม ข้าวโพดต้ม ลูกชิ้นทอด ไก่ย่าง ผัดไทย ข้าวไข่เจียว ไอติมหวานเย็น และอีกสารพัดเมนูสตรีทฟู้ด ต้องเข้าแล้ว! ปูเสื่อรอได้เลย...
พบกับเทศกาล “กรุงเทพ กลางแปลง”
ในใจกลางกรุงเทพมหานคร โดย Film Festival เตรียมจัดงาน “กรุงเทพ กลางแปลง” ฉายหนังคุณภาพเยี่ยม 25 เรื่องใน 10 สถานที่ ตลอด 4 สัปดาห์ รวมภาพยนตร์ดังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 จนถึงปัจจุบัน ฟื้นความหลังให้วัยรุ่นยุคก่อนได้หวนคืนความทรงจำอันแสนงดงาม และให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้พบกับประสบการณ์ที่สุดแสนจ๊าบที่หาไม่ได้ในสมัยนี้
กำหนดการฉาย “หนังกลางแปลง” ตลอดเดือน ก.ค. 65 มีดังนี้
สัปดาห์ที่ 1: วันที่ 7-9 กรกฏาคม 2565
วันพฤหัสบดี: 7 กรกฏาคม 2565
► 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร
► รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2552) ณ True Digital Park เขตพระโขนง
วันศุกร์: 8 กรกฏาคม 2565
► เวลาในขวดแก้ว (2534) ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร
► 36 (2555) ณ True Digital Park เขตพระโขนง
วันเสาร์: 9 กรกฏาคม 2565
► แพรดำ (2504) ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร
► แม่นาคพระโขนง (2502) ณ True Digital Park เขตพระโขนง
สัปดาห์ที่ 2: วันที่ 14-16 กรกฏาคม 2565
วันพฤหัสบดี: 14 กรกฏาคม 2565
► RRR Rise Roar Revolt (2565) ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย
► 4Kings (2564) ที่สวนรถไฟ เขตจตุจักร
วันศุกร์: 15 กรกฏาคม 2565
► มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544) ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย
► Portrait of a Lady on Fire ภาพฝันของฉันคือเธอ (2562) ณ สวนรถไฟ เขตจตุจักร
วันเสาร์:16 กรกฏาคม 2565
► บุญชูน่ารัก (2531) ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย
► One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564) ณ สวนรถไฟ เขตจตุจักร
สัปดาห์ที่ 3: วันที่ 21-23 กรกฏาคม 2565
วันพฤหัสบดี: 21 กรกฏาคม 2565
► หมานคร (2547) ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย
► Fast and Furious เร็ว แรง ทะลุนรก (2552) ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค
วันศุกร์: 22 กรกฏาคม 2565
► อนธการ (2558) ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย
► ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค
วันเสาร์: 23 กรกฏาคม 2565
► Wheel of Fortune and Fantasy (2564) ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย
► เพื่อนสนิท (2548) ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค
สัปดาห์ที่ 4: วันที่ 28-31 กรกฏาคม 2565
วันพฤหัสบดี: 28 กรกฏาคม 2565
► รักแห่งสยาม (2550) ณ สยาม Blox I สยามสแควร์ เขตปทุมวัน
► คู่กรรม (2556) ณ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง
วันศุกร์: 29 กรกฏาคม 2565
► Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) ณ สยาม Blox I สยามสแควร์ เขตปทุมวัน
► พี่นาค (2562) ณ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง
วันเสาร์: 30 กรกฏาคม 2565
► สยามสแควร์ (2527) ณ สยาม Blox I สยามสแควร์ เขตปทุมวัน
► มือปืน (2526) ณ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง
วันอาทิตย์: 31 กรกฏาคม 2565
► School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2563) ณ สวนครูองุ่น เขตวัฒนา
► One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564) ณ สุขุมวิท 31 เขตวัฒนา
นอกจากกิจกรรม “ฉายหนังกลางแปลง” แล้ว กรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรมคืนชีวิตชีวาให้กับกรุงเทพฯ กิจกรรมไฮไลท์ ประกอบด้วย Storytelling Workshop โดยทีมผู้กำกับไทย กิจกรรมพูดคุยกับผู้กำกับ และนักแสดงก่อนฉายหนัง กิจกรรมแสดงดนตรี โดยกลุ่มนักดนตรีในสวน กิจกรรม Street Show โดยเครือข่ายนักแสดง Street Show เป็นต้น
ผู้ร่วมจัดงาน ประกอบด้วย สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมหนังกลางแปลง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ชมรมกรุงเทพน่าอยู่กว่าเดิม และเครือข่ายผู้สนับสนุนต่างๆ